top of page

C ตัวที่ 1 คือ cattle(ต่อ) สายพันธุ์วากิว Part I

ต่อจากเรื่องวิวัฒนาการของสายพันธุ์ของวัวโลกใหม่ เมื่อคราวที่แล้วจั่วหัวไว้ว่าเราจะพูดถึงชาติที่มีการลงลึกในเรื่องวิวัฒนาการของสายพันธุ์จนเพิ่มมูลค่าของเนื้อวัวได้สูงสุดก็คือญี่ปุ่นเพราะจริงๆและในแง่เศษฐศาสตร์"วัว" เป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อการบริโภค ที่มีประสิทธิภาพการเลี้ยงต่ำที่สุดชนิดหนึ่ง แม้ว่าเทคโนโลยีการเกษตรในปัจจุบันจะก้าวหน้าไปอย่างมากแล้วก็ตาม แต่การเลี้ยงวัวเพื่อให้มีน้ำหนักเพิ่ม 1 กิโลกรัม จะต้องใช้ข้าวโพดและธัญพืชมากถึง 8 กิโลกรัม และยิ่งถ้าเป็นวัวเนื้อชั้นดีของญี่ปุ่นด้วยแล้ว ยิ่งต้องใช้ข้าวโพดและธัญพืชมากถึง 10 กิโลกรัม นอกจากนี้ การเจริญเติบโตของวัวก็ยังช้ากว่าสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น คือกว่าจะโตเป็นวัวเนื้อเพื่อการบริโภค ต้องใช้เวลาในการเลี้ยงไม่ต่ำกว่า 3 ปี ซึ่งหากเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตกับผลตอบแทนที่ได้รับแล้ว ก็คงต้องกล่าวว่า "เนื้อวัว" เป็นอาหารที่ฟุ่มเฟือยและสิ้นเปลืองมากที่สุดชนิดหนึ่ง

อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี1943เนื้อวัวญี่ปุ่นก็ได้รับการยอมรับเป็นครั้งแรกนักบริโภคเนื้อทุกคนเริ่มรู้จัก"เนื้อโกเบ" เป็นเนื้อวัวทาจิมะที่ถูกเลี้ยงในจังหวัดเฮียวโงะแถบโกเบประเทศญี่ปุ่นซึ่งต้องมีมาตรฐานดังนี้

•เป็นโคพันธุ์​​ Tajima เกิดในจังหวัดเฮียวโงะ •ถูกเลี้ยงในฟาร์มในจังหวัดเฮียวโงะ • ต้องเป็นวัวตัวผู้ที่ตอนแล้ว (virgin) •ต้องส่งเฉพาะโรงฆ่าสัตว์ในโกเบ Nishinomiya, Sanda, Kakogawa หรือฮิเมจิในจังหวัดเฮียวโงะ •อัตราไขมันแทรกต่อเนื้อแดงหรือลายหินอ่อนที่เรียกว่า BMSต้องได้ระดับ6ขึ้นไป(ซึ่งมีทั้งหมด12ระดับ)

•คะแนนคุณภาพของเนื้อสัตว์ ต้องได้4 เต็ม 5 •น้ำหนักสุทธิของเนื้อจากสัตว์ 470 กก. หรือน้อยกว่านั่นหมายถึงอายุยังไม่มากเพราะวัวที่โตเต็มวัยจะหนักมากขึ้นแต่เนื้ออาจไม่นุ่มเท่า

มาถึงตอนนี้เรื่องก็เริ่มน่าสนใจแล้วนะครับและเนื่องจากคนไทยนิยมบริโภคเนื้อญี่ปุ่นมากพอสมควรจึงขอเจาะลึกในส่วนนี้หน่อยครับจะมี2ตอนด้วยกัน เอาเป็นว่าเริ่มจากประวัติการกินเนื้อของญี่ปุ่นกันเลยแล้วกัน

ประวัติการกินเนื้อของญี่ปุ่น มนุษย์กับวัวมีความสัมพันธ์กันมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ภาพเขียนในถ้ำตั้งแต่ยุคหิน (Stone Age) ก็มีภาพวัวปรากฏอยู่

สำหรับ ที่ประเทศญี่ปุ่น มีการค้นพบโครงกระดูกวัวเป็นจำนวนมากในสมัยยาโยอิ (Yayoi) หรือประมาณ 2400 ปีก่อน จึงคาดว่ามีการเลี้ยงวัวเป็นปศุสัตว์ตั้งแต่ในสมัยนั้น โดยเป็นวัวที่มาพร้อมกับการค้าขายกับประเทศจีนและประเทศในทวีปเอเชีย พร้อมกับพบหลักฐานว่ามีการบริโภควัวเป็นอาหาร ซึ่งรวมถึงสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ เช่น หมูป่า กระต่าย กวาง ลิง หรือแม้กระทั่งปลาโลมา อีกด้วย

ในปี พศ. 1219 หรือประมาณยุคจักรพรรดิ Tenmu ได้มีการออกกฎหมายห้ามบริโภคเนื้อสัตว์ 5 ชนิด คือ วัว ม้า สุนัข นก/ไก่ และลิง และในปี พศ. 1284 หรือในยุคจักรพรรดิ Shoumu ได้มีการออกกฎหมายให้ลงโทษผู้ที่ฆ่าวัวหรือม้า โดยการเฆี่ยนด้วยไม้ตะพด 100 ครั้ง

กฎหมายห้ามบริโภคเนื้อสัตว์นี้ สันนิษฐานว่า มีสาเหตุหนึ่งเนื่องจากเกษตรกรรมของญี่ปุ่นในสมัยนั้นรุดหน้าไปมาก จึงต้องการให้ประชาชนหันไปบริโภคโปรตีนจากผลิตผลทางการเกษตรแทนการบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์ และอีกสาเหตุหนึ่งคาดว่าเป็นเพราะความเชื่อทางพุทธศาสนาแผ่อิทธิพลมาถึงการปกครอง

การเปลี่ยนวัฒนธรรมจากการบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์ มาเป็นโปรตีนจากผลิตผลทางการเกษตรและเนื้อปลา เป็น

เวลากว่า 1,000 ปีนี้ คาดว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีอายุยืนมากที่สุดในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่กฎหมายห้ามบริโภคเนื้อสัตว์ยังคงใช้อยู่นั้น ไม่ได้หมายความว่าชาวญี่ปุ่นไม่ทานเนื้อสัตว์เลย การบริโภคเนื้อสัตว์ยังคงแฝงอยู่ในพิธีกรรมทางศาสนา โดยการล่าสัตว์ป่า เช่น กวาง หมูป่า ลิง สุนัขจิ้งจอก แรคคูน และสุนัขป่า เพื่อสักการะเทพเจ้าและบรรพบุรุษ แล้วนำมาบริโภคกันในกลุ่มชนนั้นๆ

การบริโภคเนื้อสัตว์อย่างไม่เปิดเผย ดำเนินอย่างสืบเนื่องมาจนถึงสมัยเอโดะ (พศ.2146 - 2410) โดยเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคไปเป็นลักษณะของยาชูกำลัง คือ นอกจากจะบริโภคสัตว์ป่า 5-6 ชนิดที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ยังรวมถึง กระต่าย นาก พังพอน แมว สุนัข ม้า และวัว อีกด้วย

แต่เนื่องจากยังเป็นการขัดต่อจารีตประเพณีที่มีมาแต่โบราณ จึงยังคงพยายามหลีกเลี่ยงการเปิดเผยอย่างโจ่งแจ้ง โดยจะเรียกเนื้อม้า ว่า "ซากุระ" เรียกเนื้อหมูป่า ว่า "โบตัน (ดอกโบตั๋น)" และเรียกเนื้อกวาง ว่า "โมมิจิ (ใบเมเปิล)" เพื่อไม่ให้ประเจิดประเจ้อจนเกินไป

ร้านขายอาหารป่าเหล่านี้ เรียกว่า Momonji ya หรือ Yama kujira ซึ่งก็ยังคงมีให้เห็นอยู่บ้างจนถึงทุกวันนี้

สำหรับปลาวาฬ ถือเป็นปลา จึงสามารถทานได้ตามปกติ

แต่ในขณะเดียวกัน ยุคเอโดะนี้ ก็ถือว่าเป็นยุคที่ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ รังเกียจการบริโภคเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อวัวเป็นอย่างมาก

สถานที่ใดมีโรงฆ่าและชำแหละวัวหรือม้า จะถือว่าเป็นดินแดนที่แปดเปื้อนไปด้วยสิ่งชั่วร้ายโสมม

ผู้ที่มีอาชีพฆ่าสัตว์จะถือว่าเป็นผู้ที่มีวรรณะต่ำที่สุดในสังคม จะถูกรังเกียจและไม่คบหาสมาคมด้วยโดยเด็ดขาด

วัวญี่ปุ่น ที่มีอยู่ในขณะนั้น เป็นสายพันธุ์ที่มีอยู่เดิม มีขนาดเล็ก แต่มีความแข็งแกร่ง และอดทน จึงเหมาะสำหรับใช้ในงานเกษตรกรรม เหมืองแร่ ป่าไม้ และสำหรับลากเกวียน ​​

ภายหลังจากที่ญี่ป่นเปิดประเทศในรัชสมัยจักรพรรดิเมจิ (Meiji Era : พศ.2411 - 2455) และรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาในประเทศ ประกอบกับการที่เห็นว่าชาวตะวันตกมีรูปร่างสูงใหญ่เพราะการบริโภคเนื้อวัว การกินเนื้อจึงเริ่มเป็นที่แพร่หลายอย่างกว้างขวาง

ประกอบกับในปี พศ. 2414 ได้มีการเสิร์ฟอาหารฝรั่งเศสในพระราชวัง จึงเท่ากับว่า จารีตประเพณีการห้ามบริโภคเนื้อสัตว์ ที่สืบเนื่องมาเป็นเวลาเกือบ 1,200 ปี ได้เป็นอันสิ้นสุดลง

และต่อมาเมื่อวันที่ 24 มกราคม พศ. 2415 สมเด็จพระจักพรรดิเมจิได้ทรงเสวยเนื้อวัวตุ๋น ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในขณะนั้น เพื่อเป็นตัวอย่างแก่พสกนิกร เนื้อวัวตุ๋นดังกล่าว ปัจจุบันได้ก็กลายมาเป็นอาหารประจำชาติของญี่ปุ่นอีกชนิดหนึ่ง คือ Sukiyaki และร้านสุกิยากิบางแห่ง ก็ยังคงถือว่าวันที่ 24 มกราคม ของทุกปี เป็นวันสุกิยากิ มาจนถึงทุกวันนี้

แต่จากที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า วัวสายพันธุ์ดั้งเดิมของญี่ปุ่น มีขนาดเล็ก จึงไม่เหมาะกับการนำไปเป็นวัวสายพันธุ์เพื่อการบริโภค ทำให้มีความจำเป็นต้องนำวัวเนื้อ สายพันธุ์ยุโรป เข้ามา เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมาใหม่

การพัฒนาสายพันธุ์ใหม่นี้ ทำให้วัวญี่ปุ่นมีขนาดใหญ่ โตไว แต่มีปัญหาการบริโภคธัญพืชในอัตราสูง อีกทั้งยังอ่อนแอ ป่วยเป็นโรคง่าย และเกิดสายพันธุ์ผสมใหม่ๆ ขึ้นเป็นจำนวนมาก จนไม่สามารถควบคุมได้

เมื่อเข้าสู่รัชสมัยจักรพรรดิไทโช (Taishou Era : พศ. 2455-2469) จึงได้มีการกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ที่ชัดเจน คือต้องทำให้วัวมีขนาดใหญ่ ให้เนื้อในอัตราสูง และกำหนดให้พัฒนาเพียงจังหวัดละ 1 สายพันธุ์ จนกระทั่งปี พศ. 2487 หรือนับเป็นเวลาได้ 40 ปี ตั้งแต่ที่เริ่มมีการนำเข้าวัวสายพันธุ์ต่างประเทศเข้ามา ญี่ปุ่นก็ประสบความสำเร็จในพัฒนาวัวสายพันธุ์ใหม่ได้รวม 4 สายพันธุ์ คือ ​​

พันธุ์ญี่ปุ่นขนดำKuroge washu หรือ Japanese Black

เดิมเป็นวัวต้นพันธุ์ของวัวดำที่เลี้ยงอยู่ในแถบภาคตะวันตกของญี่ปุ่น ได้แก่ จังหวัดเฮียวโงะ โอกายามา ฮิโรชิมา ยามางุจิ เกาะคิวชู และเกาะชิโกกุ ซึ่งต่อมาได้พัฒนาจนกลายเป็นสายพันธุ์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด โดยมีปริมาณการเลี้ยงมากถึง 95% ของวัวสายพันธุ์ใหม่ทั้งหมด

ซึ่งในบรรดาวัวพันธุ์ญี่ปุ่นขนดำนี้ จะเป็นวัวต้นพันธุ์ของจังหวัดเฮียวโงะประมาณ 60-70% เนื้อของวัวสายพันธุ์ญี่ปุ่นขนดำ จะมีฟองไขมันเม็ดละเอียดแทรกซึมอยู่ในอณูเนื้อแดง เรียกว่า Shimo furi (โปรยน้ำค้างแข็ง) ทำให้เนื้อมีความนุ่ม ประหนึ่งจะละลายในปาก อีกทั้งฟองไขมันก็มีความหอมหวาน จัดเป็นวัวเนื้อสายพันธุ์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ทั้งในประเทศญี่ปุ่นและในระดับสากล

ต้นสายพันธุ์วัวพันธุ์ทาจิมะก็คือวัวชื่อ "Tajiri-go" ที่เลี้ยงโดย Mr. Matsuzo Tajiri ที่เมือง Ojiro, ในแถบทาจิมะตอนเหนือของจังหวัดเฮียวโงะ

พันธุ์ญี่ปุ่นขนน้ำตาลAkage washu หรือ Japanese Brown

เดิมเป็นวัวต้นพันธุ์ในตระกูลวัวแดง ซึ่งแม้ว่าจะมีอัตราไขมันในเนื้อต่ำกว่า 12% ทำให้มีความนุ่มและหอมหวานน้อยกว่าพันธุ์ญี่ปุ่นขนดำ แต่ก็มีรสชาติดี มีความนุ่มพอเหมาะพอสม ไม่เลี่ยนไขมัน เหมาะสำหรับบริโภคเพื่อสุขภาพ

วัวสายพันธุ์นี้จะเจริญวัยได้ดี มีนิสัยเชื่องกว่า มีความแข็งแรง ทนต่ออากาศร้อน และให้เนื้อในปริมาณสูงกว่า จึงมักนิยมเลี้ยงในจังหวัดทางตอนใต้ เช่น จังหวัดคุมาโมโตะ และจังหวัดโคจิ

พันธุ์ญี่ปุ่นไม่มีเขา Mukaku washu หรือ Japanese Polled

มีการเลี้ยงเฉพาะที่จังหวัดยามางุจิ เป็นหลัก มีจุดเด่นคือให้เนื้อในปริมาณที่มากกว่าสายพันธุ์อื่น และถือเป็นสายพันธุ์ที่มีรสชาติใกล้เคียงกับวัวสายพันธุ์โบราณของญี่ปุ่นมากที่สุด

แต่หากเปรียบเทียบกับ 2 สายพันธุ์ข้างต้นแล้ว จะมีคุณภาพของเนื้อที่ด้อยกว่า จึงทำให้ปริมาณการเลี้ยงเริ่มลดลงเป็นลำดับ ส่วนสายพันธุ์สุดท้าย พัฒนาได้สำเร็จในปี พศ. 2500 คือ

พันธุ์ญี่ปุ่นเขาสั้นNihon tankaku shu หรือ Japanese Shorthorn

นิยมเลี้ยงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเกาะฮอกไกโด เหมาะสำหรับการเลี้ยงตามธรรมชาติในท้องทุ่ง จึงประหยัดต้นทุนกว่าสายพันธุ์อื่นๆ วัวสายพันธุ์นี้จะให้เนื้อแดงในอัตราสูง ไขมันต่ำ มีความนุ่ม และมีรสชาติเอร็ดอร่อยตามคุณลักษณะดั้งเดิมของเนื้อวัว แต่หากเปรียบเทียบเฉพาะความนุ่มและความหอมหวานแล้ว จะมีคุณภาพด้อยที่สุดในบรรดา 4 สายพันธุ์

ช่วง เวลาที่พัฒนาวัวเนื้อสายพันธุ์ใหม่สำเร็จนี้ เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ประเทศญี่ปุ่นได้ก้าวเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว และเข้าสู่ยุคแห่งการเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด

การใช้แรงงานวัวในภาคการเกษตร จึงถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรกลทั้งหมด

นอกจากนี้ ประชาชนก็มีฐานะการกินอยู่ที่ดีขึ้น จึงเริ่มหันมาบริโภคเนื้อวัวกันอย่างกว้างขวาง

ประกอบกับมีการนำวิวัฒนาการผสมเทียมเข้ามาใช้ การเลี้ยงวัว จึงเปลี่ยนมาเป็นการเลี้ยงเพื่ิอการเกษตร มาเป็นการเลี้ยงเพื่อการบริโภค และวัวญี่ปุ่นทั้ง 4 สายพันธุ์ ก็ได้แพร่กระจายไปในจังหวัดต่างๆ อย่างรวดเร็ว พร้อมกับมีการเรียกขานนาม ตามแหล่งที่เลี้ยงนั้นๆ ไม่ต่ำกว่า 100 ชนิด

แต่ในบรรดาวัวสายพันธุ์ใหม่นี้ วัวทาจิมา (Tajima ushi) ซึ่งเป็นวัวสายพันธุ์ญี่ปุ่นขนดำ ที่เลี้ยงอยู่ในเมืองทาจิมา จังหวัดเฮียวโงะ ถูกจัดให้เป็นวัวที่มีคุณภาพดีที่สุด โดยส่วนใหญ่จะถูกนำไปเลี้ยงต่อเป็นวัวโกเบ และวัวมัทซึซากะ ซึ่งจัดเป็นสุดยอดเนื้อวัวของญี่ปุ่นและของโลก

ส่วนวัวสายพันธุ์ดั้งเดิมของญี่ปุ่น ปัจจุบันคงเหลืออยู่เพียงที่เกาะมิชิมา ในจังหวัดยามางุจิ แต่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น เนื่องจากเป็นเกาะเล็กๆ กลางทะเล จึงรอดจากการผสมพันธุ์กับวัวสายพันธุ์ต่างประเทศมาได้ วัวสายพันธุ์ดั้งเดิม หรือที่เรียกว่า วัวมิชิมา (Mishima ushi) นี้ เป็นวัวขนาดเล็ก สูงประมาณ 1.0-1.2 เมตร น้ำหนักประมาณ 250-320 กิโลกรัม ปัจจุบันจัดเป็นสัตว์สงวนระดับพิเศษของประเทศญี่ปุ่นนับตั้งแต่ปี พศ. 2471 เป็นต้นมา ​​แต่ในทุกๆปี จะอนุญาตให้นำมาวัวมิชิมาตัวผู้ มาจำหน่ายเพื่อการบริโภคได้ ปีละประมาณ 10 กว่าตัว ซึ่งเนื้อวัวมิชิมานี้ ก็ถือเป็นเนื้อที่มีคุณภาพดี เนื้อเยื่อเป็นเส้นไยที่ละเอียดอ่อน และมีฟองไขมัน (Shimo furi) แทรกซึมในอณูเนื้อแดงเช่นเดียวกัน

เนื่องจากการที่วัวในประเทศญี่ปุ่น มีทั้งสายพันธุ์เดิม สายพันธุ์ใหม่ วัวนม และวัวลูกผสม จำนวนมาก ซึ่งแต่ละชนิดมีคุณภาพ และราคาแตกต่างกันเป็นอย่างมาก

ปัจจุบัน คำว่า วัวญี่ปุ่น หรือ Wagyuu (อ่านว่า "วะงิว" หรือ "วะกิว") จึงมีความหมายจำกัดเฉพาะ วัวที่ถูกพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นใหม่ทั้ง 4 สายพันธุ์ และวัวลูกผสมระหว่าง 4 สายพันธุ์นี้เท่านั้น ซึ่งจะต้องเกิด และเลี้ยงที่ญี่ปุ่นอีกด้วย

ส่วนเนื้อวัวชนิดอื่นที่จำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น แต่ไม่ได้จัดเป็น Wagyuu จะแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ เนื้อวัวนำเข้า และ เนื้อวัวเลี้ยงในประเทศ (Kokusan gyuu) ซึ่งได้แก่เนื้อวัวนม ซึ่งเป็นวัวตัวผู้ หรือวัวตัวเมียที่ปลดระวางแล้ว

เนื้อวัวลูกผสมระหว่างวัวนม กับ Wagyuuเนื้อวัว Wagyuu ที่เกิดในต่างประเทศ แล้วนำมาเลี้ยงในประเทศญี่ปุ่นเป็นระยะเวลานานกว่าที่กำหนด

ดังนั้น การบริโภคเนื้อวัวในญี่ปุ่น จึงควรเข้าใจรายละเอียดเหล่านี้ เพื่อให้สามารถบริโภคเนื้อวัวได้ตรงตามชนิดที่ตั้งใจ

สรุปก็คือ Wagyuu’ คือวัวเนื้อทั้งหมดของญี่ปุ่นที่มี4พันธุ์ที่นิยม และพันธุ์ที่นิยมสูงสุดก็คือ วัวดำ ทาจิมะ แต่เนื้อ Matsusaka ก็ดี Kobe ก็ดีและเนื้อโอมิ Ōmi Yonezawa มันไม่ใช่พันธุ์แต่เป็นแหล่งที่เพาะเลี้ยงจนกลายมาเป็นแบรนด์ชั้นนำของเนื้อ Wagyuu Top 3 ที่รู้จักกันว่า Sandai Wagyuu หมายถึง"สาม(เนื้อ)ใหญ่" มันเป็นเครื่องหมายการค้าและเป็นการตลาดที่เอาชื่อของถิ่นกำเนิดมาตั้งและคุ้มครองถิ่นกำเนิดไปในตัวคล้ายไวน์ในฝรั่งเศสไงครับ แบบเดียวกับ AOC (appellion d’origine controlle) คือฝรั่งเศสจะบอกว่าองุ่นพันธุ์เดียวกันเอาไปปลุกคนละแหล่งมันจะไม่ได้ไวน์ที่ดีเท่ากันเพราะTerroir หรือองค์ประกอบของดินน้ำแสงแดดมันไม่เหมือนกัน มันก็คงจริงครับและก็มันก็การตลาดด้วยคิดได้เยี่ยมมากๆ เช่นถ้าเป็นเนื้อ Matsusaka มันก็ต้องมาจากภูมิภาค Matsusaka ของมิเอะประเทศญี่ปุ่น มันเป็นหนึ่งในเนื้อที่มีชื่อเสียงที่สุดของญี่ปุ่นเพราะมีอัตราส่วนไขมันต่อเนื้อสูงสุด เนื้อ Matsusaka ผลิตจากวัวสาวบริสุทธ์(ไม่เคยถูกผสม)พันธุ์ Tajima-ushi เกิดในจังหวัดเฮียวโงะญี่ปุ่น. แต่ พวกเธอจะเติบโตขึ้นมาในที่เงียบสงบในพื้นที่อันเงียบสงบโดยรอบ Matsusaka ระหว่างแม่น้ำ Kumozu ทางทิศเหนือและแม่น้ำมิยากาวาไปทางทิศใต้. พวกเธอจะได้รับการเลี้ยงดูอย่างอุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารพิเศษมีตะกอนเต้าหู้และข้าวสาลี มีการใช้เบียร์เพื่อกระตุ้นให้กินและช่วยย่อยแถมยังได้รับการนวดด้วยเหล้าสาเก ที่ผู้เลี้ยงจะพ่นสเปร์ยเหล้าสาเกไปบนตัวและใช้ฟางถูนวดจนขนดำขึ้นเงา บางครั้งก็เปิดเพลงMozart ให้ฟังเพราะเชื่อว่าวัวที่มีความสุขจะทำให้กล้ามเนื้อrelax ไม่เกร็งเหมือนวัวเครียด ซึ่งทั้งหมดนี้เราจะมาคุยกันต่ในตอนต่อไปครับ

My other food&Travel site

(Trips&Tastes blog)

#1 

http://khunpusit.wix.com/tripsandtastes

 

#2

The content of both sites will be updated regularly 5 times a week

 

#3

Please leave your mail address or add us to your social network page

bottom of page